การศึกษาไทย อยู่อันดับ 44 จาก 49 ประเทศ

การศึกษาไทยปี 2544 อยู่ในอันดับ 44 จาก 49 ประเทศ ตกจากปีที่แล้วซึ่งอยู่อันดับ 35 พบการศึกษาไทยยังไม่ตอบสนองการแข่งขัน คนไทยรู้และเข้าใจเศรษฐกิจน้อยมาก ทั้งที่งบฯ การศึกษาไทยอยู่ในอันดับ 2 ของเอเชีย แต่มีปัญหาด้านประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้ใช้ไปที่ตัวเด็ก แต่ทุ่มกับสถานที่ โดยเฉพาะรั้วและป้ายโรงรียนที่ไม่มีชาติใดในโลกที่สร้างด้วยหินแกรนิตมากเท่าไทย

ดร.รุ่ง แก้วแดง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) เปิดเผยผลการจัดอันดับความสามารถด้านการศึกษาของประเทศในภูมิภาคต่างๆ รวม 49 ประเทศ จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานเรื่อง The World Competitiveness Yearbook 2001 ของ International Institute for Management Development (IMD) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2544 โดยกล่าวว่า

จากการประเมินเกณฑ์ชี้วัดทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 44 ตกจากอันดับที่ 35 เมื่อปีที่แล้วแต่หากเปรียบเทียบเฉพาะประเทศในเอเชียจำนวน 11 ประเทศ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่า 7 ประเทศคือ สิงคโปร์ (อันดับ 1) ไต้หวัน (อันดับ 18) ญี่ปุ่น (อันดับ 23 ) ฮ่องกง (อันดับ 29) เกาหลี (อันดับ 32) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 35 ) มาเลเซีย (อันดับ 38) แต่อยู่ในอันดับสูงกว่า 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย (อันดับ 46) จีน (อันดับ 48) อินเดีย (อันดับ 49)

ดร.รุ่ง กล่าวด้วยว่า การจัดอันดับมีเกณฑ์ชี้วัดที่ทำให้คะแนนแตกต่างกันไปคือ ค่าใช้จ่ายทางการศึกษา พบว่ารัฐบาลลงทุนที่การศึกษาสูงอยู่ในอันที่ 2 ของประเทศในเอเชีย คือร้อยละ 4.4 แต่ประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินต่ำมากๆ และไม่ค่อยใช้เงินเพื่อการเรียนการสอน มีการใช้เงินค่อนข้างมากไปในการสร้างอาคาร สถานที่ อุปกรณ์ และที่ใช้มากกว่าทุกประเทศคือการสร้างรั้วโรงเรียน ไม่มีชาติใดในโลกที่มีรั้วและป้ายโรงเรียนที่ทำด้วยหินแกรนิตมากเท่าประเทศไทย หลายประเทศใช้เงินน้อยกว่าไทย แต่ทุ่มเทไปที่การเรียนการสอนที่ใกล้ชิดตัวเด็ก ของไทยเงินที่ใช้ไม่ค่อยถึงตัวเด็ก

“นี่เป็นเหตุผลอันหนึ่งจากการชี้วัดของ IMD ว่าถ้าเราไม่ปฏิรูปการศึกษา เราก็ทุ่มเงินลงไปแบบนี้ ถ้ามองเหมือนร่างกายของเรา เรากินอาหารเยอะมาก แต่เราผอม เพราะเรามีพยาธิเยอะ ดังนั้นในแง่นโยบายที่เราจะลุกขึ้นมาโวยวายว่าการจัดการศึกษาเงินไม่พอ โวยวายได้ค่อนข้างลำบาก เพราะจากตัวเลขเราลงทุนเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคนี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องกลับมา ทบทวนเรื่องการใช้เงิน” เลขาธิการ กกศ.กล่าว

ดร.รุ่ง กล่าวอีกว่า อัตราส่วนของนักเรียนต่อครูระดับประถมศึกษา ในภาพรวมเฉลี่ย ครูไทย 1 คนต้องรับภาระสอนนักเรียน 18 คน ชาติอื่นส่วนใหญ่ครู 1 คนรับภาระสอนไม่น้อยกว่า 19 คนขึ้นไป ส่วนครูระดับมัธยมศึกษา ภาพรวมเฉลี่ยครูไทย 1 คนต้องรับภาระสอนนักเรียน 20 คน ส่วนชาติอื่นในเอเชียครู 1 คนรับภาระสอนไม่ถึง 20 คน

นอกจากนี้ยังวิเคราะห์การรู้หนังสือของประชากรพบว่า จำนวนคนรู้หนังสือของไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ยังไม่รู้หนังสือเหลือเพียงร้อยละ 5.3 ของจำนวนประชาร ดีกว่าประเทศฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ฮ่องกง และที่สำคัญดีกว่าประเทศอินเดีย ซึ่งมีอัตราคนไม่รู้หนังสือถึงร้อยละ 46

เลขาธิการ กกศ. กล่าวว่า การประเมินเชิงคุณภาพการศึกษาในเชิงลึกของ IMD พบว่าระบบการจัดการศึกษาของไทยยังไม่สามารถตอบสนองการแข่งขันทางเศรษฐกิจ หมายความถึงคนไทยไม่ได้สนใจด้านการแข่งขัน

มหาวิทยาลัยของไทยมีความร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมมีน้อยมาก ดังนั้นทำให้ไทยไม่สามารถร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนา ทำให้เกิดจุดอ่อนระบบการศึกษาของไทย นอกจากนี้คนไทยมีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจน้อยมาก เทียบแล้วน้อยกว่า สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเลเซีย

อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์โดยภาพรวมของ IMD นี้ จะเป็นข้อมูลที่ใช้เป็นประโยชน์ในการวางแผนการศึกษาของไทยในปีต่อไป

แชร์ให้เพื่อน